รุ่นพี่-รุ่นน้อง วัฒนธรรม สังคมหรือการแบ่งชนชั้น
จากกรณีข่าวเด็กนักเรียนชายชั้น ม.3 รุมทำร้ายเด็กชั้น ม.2 และให้แสดงพฤติกรรมก้มกราบที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลในขณะนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่สถานศึกษาจะต้องพิจารณาได้แล้วว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเด็กวัยรุ่นในสังคมไทย หากบอกว่าสิ่งที่เด็กนักเรียนรุ่นพี่ทำเกิดจากความคึกคะนอง หรือกิจกรรมที่เล่นกันระหว่างกลุ่มเพื่อน คนเป็นพ่อเป็นแม่และเป็นครู ก็คงต้องหาคำตอบร่วมกันแล้วละว่า อะไรที่ทำให้เด็กที่มีอายุเพียงเท่านี้คิดว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นคือเรื่องสนุกสนาน เพราะด้วยพฤติกรรมส่วนบุคคล วัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา สังคมที่สร้างความคุ้นชิน หรือว่าการบ่งบอกสถานะตามชนชั้นกันแน่ วัฒนธรรม คือ การกระทำหรือการปฏิบัติตนที่สืบทอดปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง ความจริงแล้วการที่เด็กกลุ่มนี้สามารถที่จะทำร้ายเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอายุน้อยกว่าได้อย่างไม่มีความเกรงกลัวที่จะถูกลงโทษ อาจจะมีสาเหตุมาจากการถูกกระทำมาก่อนก็ได้ เพราะในสมัยอดีตเมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็กอยู่ชั้น ม.2 เขาอาจจะเคยถูกรุ่นพี่ชั้น ม.3 ทำแบบที่เขาทำกับรุ่นน้องก็เป็นได้ สังคม คือ สภาพแวดล้อมที่จะสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมและการกระทำของคนๆ หนึ่ง ฉะนั้น การแสดงออกของพฤติกรรมเด็กหนึ่งคนย่อมต้องมีต้นตอมาจากการเลี้ยงดูหรือการปลูกฝั่งของคนในครอบครัว เพราะการที่เด็กจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงได้มากขนาดนี้ คงไม่อาจเกิดจากนิสัยใจคอจากภายในของเด็กจริงๆ เพียงอย่างเดียวอย่างแน่นอน เขาอาจจะเคยพบเห็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรืออาจจะเคยร่วมกันแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีร่วมกับรุ่นพี่ จึงทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นติดตัวของเขามาโดยตลอด เช่นนั้นแล้วคำว่า สังคม จึงต้องหมายความรวมถึงทุกสิ่งอย่างที่วนเวียนอยู่รอบๆ ตัวและชีวิตของเขา ก็คงต้องกลายเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ และคุณครูที่จะต้องคอยแยกให้เขาว่าสังคมแบบไหนที่ควรเก็บ และสังคมแบบไหนที่ควรเมินหน้าหนี แบ่งชนชั้น บางทีจุดประสงค์หลักที่เด็กเหล่านั้นกระทำลงไปอาจจะแค่เพียงต้องการสื่อสารให้รู้ว่า คนมาก่อนนับเป็นพี่ คนมาหลังนับเป็นน้อง ดังนั้น รุ่นน้องก็จะต้องเคารพและเชื่อฟังรุ่นพี่ก็เท่านั้น…